การพักโดก่อนอบ

การพักโดก่อนอบ

การพักโดก่อนอบ….ขั้นตอนที่ห้ามพลาด

                         ขนมปัง (Bread) ถือเป็นอาหารหลักของชาวต่างชาติ ที่มีประวัติความเป็นมายาวนานกว่าร้อยปี และปัจจุบันถือเป็นวัฒนธรรมที่แพร่หลายและได้รับการยอมรับจากคนทั่วโลก ในประเทศไทยเอง ขนมปังก็ได้รับความนิยมไม่แพ้กัน เพียงแต่คนส่วนใหญ่ยังคงมีความเชื่อว่า ขนมปัง เป็นเพียง ‘ขนม’ เราจึงพบว่า คนไทยรับประทานขนมปังเพื่อเป็นของว่างมากกว่าเป็นอาหารหลัก

หากดูจากส่วนผสมแล้ว ขนมปังดูเหมือนจะทำได้ง่ายสุด เมื่อเทียบกับเค้กหรือเบเกอรี่อื่นๆ เพราะมีส่วนประกอบสำคัญเพียงแค่ แป้งสาลี
น้ำ ยีสต์ และเกลือ ไม่นับรวมถึงส่วนผสมที่ทำให้ได้ขนมปังเพิ่มหลายชนิด อย่าง นม น้ำตาล ไข่ สารปรุงแต่งรสหรือกลิ่น เป็นต้น แต่ในความเป็นจริงแล้ว ขนมปังกลับเป็นเบเกอรี่ที่มีปัญหาและมีคำถามในชั้นเรียนบ่อยที่สุด เพราะการที่ขนมปังจะออกมาเสร็จสมบูรณ์ รูปร่าง สีสันสวยงาม และรสชาติอร่อยได้นั้น ขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายประการ ตั้งแต่การผสมแป้ง การหมักโดการไล่อากาศออกจากโด การพักโด ขนาดน้ำหนักของก้อนโด ล้วนมีผลต่อขนมปังทั้งสิ้น หลายคนจึงให้ความสำคัญกับขั้นตอนเหล่านี้มาก ซึ่งขั้นตอนที่มีผลต่อขนมปัง ทำให้เกิดปัญหามากมายได้ไม่แพ้กัน คือ การพักโดก่อนอบ

การพักโดก่อนอบ (Proofing) หรือเรียกอีกอย่างว่าการหมักครั้งสุดท้าย
วัตถุประสงค์ของการพักหรือหมักครั้งนี้เพื่อให้โดมีปริมาตรเพิ่มขึ้น หลังจากที่ไล่ก๊าซออกไปแล้วตอนรีดโดก่อนทำรูปร่าง โดยขั้นตอนนี้ยีสต์จะได้รับอากาศใหม่เข้าไป ทำให้มีกำลังในการผลิตก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์มากขึ้น โดจะยืดตัวห่อหุ้มก๊าซใหม่ที่เกิดขึ้นไว้ ทำให้เนื้อขนมปังที่ได้โปร่ง ไม่แน่นและมีขนาดใหญ่ขึ้น ดังนั้นในขณะที่หมักโดขั้นตอนนี้แสดงว่ายีสต์ยังคงทำปฏิกิริยาอยู่ และจะทำปฏิกิริยาเร็วขึ้นกว่าการพักโดครั้งแรก เพราะอุณหภูมิที่ใช้ในการพักตัวครั้งสุดท้ายนี้สูงกว่าการพักโดครั้งแรก

วิธีการพักโดก่อนอบที่ถูกต้องคือ เมื่อขึ้นรูปขนมปังและนำใส่ถาดหรือพิมพ์แล้ว ควรหมักโดนี้ไว้ในห้องหรือตู้ที่ควบคุมอุณหภูมิหรือความชื้นได้ อุณหภูมิที่เหมาะสมอยู่ที่ 95 องศาฟาเรนไฮท์ หรือ 35 องศาเซลเซียส ถ้าอุณหภูมิต่ำกว่านี้โดจะใช้เวลานานกว่าจะขึ้นตัว แต่ถ้าอุณหภูมิสูงเกินไปยีสต์อาจตายได้ ส่วนระยะเวลาที่ใช้ในการพักขึ้นอยู่กับขนาด รูปร่างของโดและอุณหภูมิในการหมัก โดยทั่วไปแล้วใช้เวลาประมาณ 45-60 นาที สำหรับอุตสาหกรรมขนาดใหญ่หรือร้านเบเกอรี่ที่มีการผลิตเป็นจำนวนมาก มักมีตู้หมักที่สามารถควบคุมความชื้นได้ ความชื้นสัมพัทธ์ที่เหมาะสมอยู่ที่ร้อยละ 85 กรณีที่ไม่มีตู้หมัก ให้ใช้แผ่นพลาสติกหรือผ้าขาวบางชุบน้ำบิดหมาดคลุมโดในระหว่างการหมัก เพื่อป้องกันไม่ให้น้ำในโดระเหยสู่อากาศภายนอก ทำให้ผิวหน้าของก้อนโดแห้งกระด้างได้

ปัญหาที่มักเกิดกับโดในการหมักขั้นตอนนี้

1. ใช้เวลาในการหมักนานกว่าจะขึ้นเป็น 2 เท่า

สาเหตุ แสดงว่าคุณอาจใส่ยีสต์ในปริมาณที่น้อยเกินไป หรือใช้อุณหภูมิในการหมักไม่เหมาะสม

2. ไม่พองตัว แต่แบนราบไปกับถาดหรือพิมพ์

สาเหตุ มีความเป็นไปได้หลายประการ อาทิ โดยังหมักไม่เต็มที่ ปริมาณน้ำในโดมากเกินไป ความชื้นในตู้หมักมากเกินไป ลืมใส่ยีสต์ หรือใช้ยีสต์ที่หมดอายุ

3. พองตัวเป็นยอดแหลมและขึ้นฟูมากในพิมพ์หรือถาด

สาเหตุ แสดงว่าโดหมักนานเกินไป หรือใช้เวลานวดผสมน้อยยังไม่ได้ที่

4. บริเวณผิวหน้าของโดแข็ง

สาเหตุ อาจเป็นเพราะขณะที่คุณขึ้นรูปขนมปังใช้แป้งนวลมากเกินไป หรือในตู้หมักมีความชื้นต่ำ

                  วิธีการแก้ไข ปัญหาที่เกิดขึ้นทั้งหมดนั้น ส่วนมากจะเป็นการทำตรงกันข้ามกับสาเหตุที่เกิดขึ้น เช่น ถ้าใส่ยีสต์น้อยเกินไป ในขณะเตรียมส่วนผสมก็ควรตรวจดูว่าใช้ยีสต์ในอัตราส่วนที่ถูกต้องหรือไม่ ใช้ยีสต์ถูกประเภทหรือยัง อุณหภูมิในการหมักเหมาะสม เป็นต้น

ปัจจัยหลักที่ทำให้ผิดพลาดในขั้นตอนนี้ ส่วนมากเป็นเพราะความใจร้อนของคนทำ โดยเฉพาะบรรดามือใหม่ เนื่องจากอยากเห็นผลงานตัวเองเร็วๆ จึงใช้เวลาในการหมักน้อยเกินไปบ้าง หรือกังวลกลัวว่าโดขนมปังจะหมักไม่ได้ที่ ทิ้งไว้นานๆ ดีกว่า ซึ่งถ้าหมักนานเกินไป ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่เกิดจากยีสต์ทำปฏิกิริยา จะเปลี่ยนเป็นกรดน้ำส้มเอซิติก (Acetic Acid)

แม้ว่าการทำขนมปังในปัจจุบัน จะมีวิธีทุ่นเวลา (No-Time Dough Method) ที่ใช้สารเคมีเร่งการนวดและการหมัก ทำให้ขนมปังที่ผสมด้วยวิธีนี้ไม่ต้องผ่านการหมักในครั้งแรก แต่ยังคงต้องมีการพักโดก่อนอบ หรือการหมักครั้งสุดท้ายอยู่ดี เพื่อรักษาปฏิกิริยาของยีสต์ให้เกิดขึ้น ถือว่าเป็นขั้นตอนสำคัญ ซึ่งไม่ว่าจะใช้วิธีการทำขนมปังแบบใด ทุกวิธีต้องมีการพักโดก่อนอบทั้งสิ้น

ทีนี้หลายคนคงหายสงสัยกันแล้วใช่ไหมคะว่า ทำไมคอลัมน์ From the Classroom ฉบับนี้ถึงให้ความสำคัญกับขั้นตอนนี้เป็นพิเศษ ก็เพราะกว่าจะทำขนมปังขึ้นมาสักชิ้นได้ไม่ใช่เรื่องง่าย ทั้งการใช้ส่วนผสม อุปกรณ์ ลงแรงกับการนวดแป้งไปก็เยอะ รวมถึงความคาดหวังของคนทำที่ว่า อยากให้ขนมปังออกมาสมบูรณ์แบบ รูปลักษณ์สวยงาม รสชาติอร่อย หากต้องมาพลาดในขั้นตอนสุดท้าย ดูจะเป็นเรื่องน่าเสียดายไม่ใช่น้อย เมื่อต้องเริ่มต้นใหม่หมดอีกครั้ง และไม่ใช่ว่าคุณจะใส่ใจกับขั้นตอนนี้เท่านั้นนะคะ ควรใส่ใจกับทุกขั้นตอนการทำ แล้วจะพบว่าผลที่ได้คุ้มค่ามากเลยทีเดียว