สับปะรด

สับปะรด

“ PINE APPLE ”
สับปะรด

       ท่านผู้อ่านเคยได้ยินสำนวนไทยที่ว่า “รสชาติไม่เป็นสับปะรด”
บ้างไหมคะ แล้วเคยสงสัยกันบ้างไหมว่า ไม่เป็นสับปะรดนั้น รสชาติเป็นอย่างไร แต่แท้จริงแล้วสับปะรดไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับสำนวนนี้เลย เพราะมีข้อสันนิษฐานว่าน่าจะเพี้ยนมาจากคำว่า ‘สรรพรส’ ที่มีความหมายว่า ครบรส หมายถึงรสชาติเปรี้ยว หวาน มัน เค็ม ที่กลมกล่อมพอดี แต่ที่คนพูดสำนวนผิด เพราะในการสนทนามีการลากเสียงสูงต่ำจึงอาจทำให้ผิดเพี้ยนกลายเป็นสับปะรดในที่สุด ไหนๆ ก็พูดถึงเรื่องสับปะรดมามากเสียขนาดนี้แล้ว มาดูกันสิว่าเจ้าผลไม้พันตาที่พูดถึงนี้จะมีความครบรสในตัวหรือเปล่า

สับปะรด มีถิ่นกำเนิดจากทวีปอเมริกาใต้ บริเวณลุ่มแม่น้ำปารานา-ปรากวัยที่ไหลผ่านประเทศอาร์เจนตินาเรื่อยไปจนถึงทางตอนใต้ของประเทศบราซิล ในอดีตสับปะรดเป็นพืชไร่ของชาวอินเดียนแดง เพราะปลูกง่าย ทนและมีการปรับตัวต่อสภาพอากาศ จึงทำให้สับปะรดแพร่หลายไปในประเทศต่าง ๆ เกือบทุกที่บนโลก ดังนั้นสับปะรดบนโลกนี้จึงมีชื่อเรียกที่แตกต่างกันไป ไม่เว้นแม้แต่ในบ้านเราชื่อของสับปะรดก็เปลี่ยนแปลงไปตามภาษาท้องถิ่น อย่างเช่น ภาคกลาง เรียกว่า สับปะรด ภาคอีสาน เรียกว่า บักนัด ภาคเหนือ เรียกว่า มะนัด มะขะนัด บ่อนัด ส่วนภาคใต้ เรียกว่า ย่านัด ย่านนัด หรือขนุนทอง

แม้หน้าตาของผลไม้ชนิดนี้จะดูแปลกไปบ้าง แต่ทุกส่วนของสับปะรดนั้นยังอุดมไปด้วยประโยชน์มากมาย การรับประทานสับปะรดวันละหนึ่งชิ้นทุกวันจะทำให้ร่างกายแข็งแรง เพราะในเนื้อสับปะรดอุดมไปด้วยวิตามินซีสูง มีส่วนช่วยในการทำงานของเนื้อเยื่อเกี่ยวพันธุ์
เพื่อให้ร่างกายสามารถต่อสู้กับเชื้อโรคต่าง ๆได้ นอกจากนี้ยังมีกากใยอาหารที่มีส่วน

สำคัญในการย่อยอาหาร ลดคอเลสตอรอล ควบคุมน้ำตาลในเลือด และยังสามารถช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดโรคมะเร็งได้อีกด้วย ทั้งนี้สับปะรดยังเปี่ยมไปด้วยสารแอนตี้ออกซิแดนท์ที่ป้องกันอันตรายจากอนุมูลอิสระที่เข้าไปทำลายโครงสร้างเซลล์ ซึ่งอาจทำให้เราเป็นโรคหัวใจหรืออัมพาตได้ และสับปะรดยังประกอบไปด้วยเอนไซม์บรอมีลิน (ฺBromelin) มีคุณสมบัติช่วยยับยั้งการอักเสบได้ ชาวอเมริกาใต้ในสมัยโบราณจึงนิยมใช้สับปะรดเป็นยารักษาโรคผิวหนังและรักษาบาดแผล

นอกเหนือจากเป็นผลไม้สารพัดประโยชน์และมีรสชาติที่หวานฉ่ำลิ้นแล้ว เรายังสามารถนำสับปะรดไปเป็นส่วนประกอบในการปรุงอาหารเมนูอร่อยๆได้อีกหลากหลายถ้าไม่เชื่อลองถามคุณแม่ที่บ้านดูสิคะว่าสเต็กเนื้อหรือเนื้อย่างที่คุณแม่ทำให้รับประทานบ่อย ๆ นั้นเวลาที่เคี้ยวทำไมถึงนุ่มลิ้นจัง บอกเคล็ดลับให้ก็ได้ เพราะในเนื้อและน้ำของสับปะรดมีความเป็นกรดมาก แม่บ้านส่วนให้จึงนิยมนำมาหมักเนื้อสัตว์ต่าง ๆ ให้นุ่มน่ารับประทานมากกว่าการใช้สารเร่งเนื้อนุ่มของอาหาร

นอกจากนี้สับปะรดยังเป็นผลไม้ที่นิยมในการนำไปปรุงอาหาร ไม่ว่าจะเป็นอาหารตำรับไทยอย่างขนมจีนซาวน้ำที่ได้ความเปรี้ยวเค็มจากมะนาวและกุ้งแห้ง แล้วยังได้สับปะรดเป็นตัวช่วยเพิ่มความหวานอีกด้วย หรือจะเข้าไปดูในครัวของฝรั่งกันบ้างกับอาหารยอดฮิตอย่างบาร์บีคิว ที่สับปะรดถือเป็นแขกรับเชิญพิเศษที่ขาดไม่ได้ รองจากพระเอกในงานอย่างเนื้อสัตว์ นำมาเสียบเรียงใส่ไม้เป็นแถวแล้วย่างด้วยไฟร้อน ๆ ล่ะก็เรียกน้ำย่อยในท้องได้ดีทีเดียว

แน่นอนเจ้าผลไม้พันตาอย่างสับปะรด สามารถนำมาดัดแปลงเป็นเมนูที่สร้างความสดชื่นได้ อย่างเช่น สมูทตี้สับปะรดหรือนำไปเชื่อมแล้วหั่นเป็นชิ้นเล็กๆรับประทานคู่กับน้ำแข็งไสแบบไทยโบราณก็ชื่นใจไม่แพ้กันหลากหลายเรื่องราวของสับปะรดผลไม้ครบรสของเราไปแล้วแต่ความสนุกและความสร้างสรรค์ในการปรุงอาหารยังไม่จบ มาหัดทำเมนูสุดบรรเจิดจากสับปะรดกันดีกว่า แล้วกระซิบเราหน่อยว่าอร่อยแค่ไหน