“แป้งสาลี”
หัวใจของการทำขนมอบ
ถ้าใครกำลังคิดว่าอยากเริ่มทำขนมอบ หรือเบเกอรี่ เพื่อมอบเป็นของขวัญในเทศกาลต่างๆ แต่ยังไม่รู้ว่าจะเริ่มอย่างไรดี ไม่ต้องเป็นกังวลเลยค่ะ
คอลัมน์นี้ช่วยคุณได้ เพราะเราสรรหาสาระดีๆ เกี่ยวกับการทำขนมอบมาฝากคุณผู้อ่านที่รักของเราเสมอๆ อยู่แล้ว ฉบับนี้ก็เช่นเดียวกันถ้าหากใครกำลังจะเริ่มทำขนมแล้วล่ะก็ วัตถุดิบถือเป็นสิ่งสำคัญ
ไม่ว่าจะเป็นขนมอบชนิดไหนๆ ก็มีส่วนประกอบสำคัญที่ถือว่าเป็น “หัวใจ” ของขนมอบเลยก็ว่าได้ นั่นก็คือ “แป้งสาลี” นั่นเอง แป้งสาลีเป็นวัตถุดิบสำคัญที่ช่วยให้เกิดโครงสร้างของขนม ทำให้ขนมคงรูปเมื่ออบเสร็จแล้ว เรียกว่าเป็นส่วนผสมหลักที่ใช้ทำผลิตภัณฑ์เบเกอรี่ทุกชนิดก็ว่าได้ แป้งสาลีแต่ละชนิดก็เหมาะสมกับการทำขนมเฉพาะอย่าง แป้งสาลีในท้องตลาดก็มีให้เลือกมากมายลายตาไปหมด แถมแป้งแต่ละชนิดยังมีหลายยี่ห้อ เรียกว่ากว่าจะเดินเลือกได้ก็เล่นเอามึนหัวไปเลยค่ะ แต่ต่อไปคุณก็จะไม่ต้องมึนแล้วล่ะค่ะ เพราะคุณกำลังจะได้รับรู้เรื่องราวของแป้งสาลีแต่ละชนิดแล้วว่ามีลักษณะอย่างไร และใช้ทำเบเกอรี่อะไรได้บ้าง
“แป้งสาลี” ที่นำมาทำขนมอบต่างๆ นั้น เป็นแป้งที่ทำมาจากข้าวสาลี ซึ่งมีโปรตีน 2 ชนิดคือ กลูเตนิน (Glutenin) และ ไกลอะดิน (Gliadin) ซึ่งเมื่อผสมกับน้ำในอัตราส่วนที่เหมาะสม จะทำให้เกิดสารชนิดหนึ่ง เรียกว่า “กลูเต็น” (Gluten) มีลักษณะเป็นยางเหนียว ยืดหยุ่นได้ กลูเต็นนี้จะเป็นตัวเก็บก๊าซเอาไว้ทำให้เกิดโครงสร้างเมื่อถูกความร้อน ข้าวสาลีที่นำมาทำแป้งสาลีนั้นมี 2 ชนิด คือ
- 1. ข้าวสาลีพันธุ์หนัก (Hard Wheat) เมื่อนำข้าวมาโม่จะได้แป้งสาลีชนิดหนัก ซึ่งเป็นแป้งที่มีโปรตีนสูง น้ำหนักมาก ลักษณะค่อนข้างหยาบ แป้งสาลีชนิดนี้มีโปรตีนที่มีคุณภาพดี สามารถนวดผสมให้ได้ก้อนแป้งที่มีความยืดหยุ่นดี ทนต่อสภาพการผสม การหมัก อุณภูมิของห้องและเครื่องผสม มีคุณสมบัติในการอุ้มก๊าซ ซึ่งจะมีผลทำให้ขนมอบมีปริมาตรดี มีความสามารถในการดูดซึมน้ำได้สูง เหมาะสำหรับทำขนมปัง เดนิช เพสตรี้ เป็นต้น
- 2. ข้าวสาลีพันธุ์เบา (Soft Wheat) เมื่อนำมาโม่จะได้เป็นแป้งสาลีชนิดเบา ซึ่งเป็นแป้งที่มีโปรตีนต่ำ น้ำหนักเบา เนื้อเนียนละเอียด มีสีขาวสะอาด มีความสามารถดูดซึมน้ำได้ต่ำกว่าแป้งสาลีชนิดหนัก มีความทนทานต่อการผสมและการหมักต่ำ จึงเหมาะสำหรับนำมาทำเค้ก คุกกี้ ฯลฯ
ส่วนประกอบของเมล็ดข้าวสาลี
1. “Endosperm” คิดเป็น 83% ของเมล็ดข้าว เป็นส่วนที่อยู่ด้านในสุด เป็นเมล็ดข้าวสีขาวซึ่งเป็นส่วน
ที่ใหญ่ที่สุดของเมล็ดข้าว และประกอบไปด้วยโปรตีนและคาร์โบไฮเดรต
2. “รำข้าว” (Bran) คิดเป็น 14.5% ของเมล็ดข้าว คือ ส่วนเยื่อสีน้ำตาล หรือสีน้ำตาลเข้ม ที่เคลือบหรือคลุมเมล็ดข้าวสีขาว “แป้งโฮลวีท” มักจะมีส่วนผสมของเปลือกที่หุ้มข้าวขาวดังกล่าว ทำให้แป้งโฮลวีทจึง
มีสีออกน้ำตาล ๆ หรือสีเข้ม ส่วนนี้จะให้กากอาหาร หรือไฟเบอร์ วิตามินและแร่ธาตุ
3. “จมูกข้าว” (Germ) หรือ Embryo คิดเป็น 2.5% ของเมล็ดข้าว อยู่ชั้นล่างสุด จะเป็นแหล่งผลิตอาหารและตัวอ่อน หรือต้นอ่อนที่จะเติบโตเป็นผู้ใหญ่ หรือเป็นข้าวสาลีในอนาคตนั่นเอง ซึ่งส่วนนี้เต็มไปด้วยแร่ธาตุและคุณค่าทางอาหารรวมทั้งไขมันด้วย ส่วนนี้จะให้คุณค่าในด้านของเอนไซม์, วิตามิน, แร่ธาตุและไขมัน
ข้าวสาลีกลายเป็นแป้งได้อย่างไร
Breaking หรือ Cracking คือ การนำเมล็ดข้าวไปแยกให้ส่วนที่สำคัญของเมล็ดข้าวทั้ง 3 ส่วน
ออกจากกันนั่นคือ Endosperm, Bran และ Germ
Purifying บางส่วนที่ยังอาจจะถูกแยกออกไม่หมดจะถูกแยกต่อไปในขั้นตอนนี้โดยใช้ระบบลมเป่าออก
Reducing ใช้ระบบการบดทำให้ส่วนของ Endosperm แตกออกเป็นแป้ง
Sifting การร่อน แป้งจะถูกร่อนออกมาตามความหยาบและความละเอียด แล้วถูกแยกไปยังสายพาน
สายต่าง ๆ ออกไปเพื่อนำไปสู่ขั้นตอนที่ห้า
Classifying แป้งก็จะถูกแยกออกไปและแบ่งเป็นชนิดต่างๆ กัน เช่น Whole Wheat Flour,
Clear Flour, Straight Flour เป็นต้น
สีของแป้งสาลี
1. แป้งสีอ่อน (Light–Colored Flour) มาจากสายพาน White Endosperm
2. แป้งสีเข้มขึ้น (Darker–Colored Flour) มักมีส่วนผสมของ Bran เพราะ Bran หรือเปลือกที่หุ้มเมล็ดข้าวขาวนั้นเป็นตัวก่อให้เกิดสีเข้มขึ้น
3. แป้งสีเข้มสุด (Dark–Colored Flour) ชนิดนี้
จะเป็นแป้งที่มีคุณค่าทางอาหารมากที่สุด ไม่เพียงแต่มี
ส่วนประกอบด้วยตัวสตาร์ช (Starch) จากส่วนของ Endosperm เท่านั้น ยังประกอบไปด้วยส่วนสำคัญทางคุณค่าอาหารของเมล็ดข้าวอีก 2 ส่วนด้วย คือ Bran กับ Germ ส่วนของ Germ นั้นเป็นส่วนที่เตรียมตัวจะเป็น
ต้นอ่อนในอนาคตและมีคุณค่าทางอาหารสูงที่สุด แต่มี
ส่วนประกอบของไขมันอยู่ด้วย ดังนั้น แป้งสีเข้มที่สุดนี้
มักจะมีอายุไขไม่ยืนยาวเหมือนแป้งสีอ่อนๆ ทั้งหลาย ดังนั้นจึงควรเก็บไว้ในห้องที่มีความเย็น
การแบ่งชนิดของแป้งสาลีนั้นจะดูจากส่วนประกอบสำคัญ คือ ส่วนที่เป็นโปรตีนที่อยู่ในแป้งที่เรียกว่า กลูเต็น (Gluten) และเปอร์เซ็นการดูดซึมน้ำ (% of water absorption) ส่วนประกอบสำคัญของเมล็ดข้าวสาลีที่นำมาทำแป้ง คือ Gluten, Starch, Ash, Vitamins, Moister ส่วนสำคัญที่จะพูดถึงคือ Gluten และ Starch ส่วนของกลูเต็น (Gluten) นั้นเราได้ทราบในตอนต้นแล้ว สำหรับส่วนสตาร์ช (Starch) คือ ส่วนคาร์โบไฮเดรตของเมล็ด
ข้าวสาลี จะช่วยสร้างโครงสร้างของขนมอบ และช่วยให้ขนมกลายเป็นสีน้ำตาล หรือที่เราเห็นเป็นส่วนของเปลือกขนมนั่นเอง
แป้งสาลีที่ผลิตขึ้นมาเพื่อทำผลิตภัณฑ์เบเกอรี่ มีอยู่ 3 ชนิดด้วยกัน คือ
1. แป้งขนมปัง (Bread flour) เป็นแป้งที่มีโปรตีนสูง 12-14% ทำจาก
ข้าวสาลีพันธุ์หนักซึ่งมีกลูเต็นสูง ทำให้ขนมปังขึ้นรูปร่างได้ดีและอยู่ทรง มีสารพัดชนิดทั้งแบบฟอกสี ไม่ฟอกสี โฮลวีท ออแกนิกส์ มีความทนทานต่อการผสมได้ดี สามารถยืดตัวออกได้เวลาที่ถูกผสม โดยที่กลูเต็นไม่ฉีกขาด แป้งชนิดนี้มีคุณสมบัติพิเศษ เมื่อนำมารวมกับน้ำในอัตราส่วนที่เหมาะสม โปรตีนในแป้ง
จะฟอร์มตัวให้โครงสร้างที่มีลักษณะคล้ายฟองน้ำมีความเหนียวและความยืดหยุ่น สามารถอุ้มก๊าซไว้ได้ แป้งขนมปังใช้ทำขนมปังต่างๆ เดนิช พิซซ่า ครัวซองท์
ปาท่องโก๋ หรือใช้ทำเค้กที่ต้องการให้ได้เนื้อเค้กที่มีลักษณะแน่น เช่น ฟรุตเค้ก ลักษณะของแป้งเป็นสีครีม มีเนื้อหยาบ เมื่อใช้มือบีบแป้งจะไม่รวมตัวกันได้ง่าย แป้งชนิดนี้ใช้ยีสต์เป็นตัวทำให้ขึ้นฟู
2. แป้งสาลีอเนกประสงค์ (All–purpose flour) แป้งชนิดนี้จะมีคุณสมบัติอยู่ตรงกลางระหว่างแป้งขนมปังกับแป้งเค้ก ผลิตจากข้าวสาลีพันธุ์หนักผสมกับข้าวสาลีพันธุ์เบา แป้งชนิดนี้มีโปรตีนปานกลางประมาณ 10-12% มีทั้งแบบฟอกสีให้ขาวจั๊วะและแบบไม่ฟอกสี ซึ่งสามารถใช้แทนกันได้ จำนวนโปรตีน
อาจจะแตกต่างกันแล้วแต่ยี่ห้อ ขึ้นอยู่กับว่าเมล็ดข้าวสาลีที่ได้ปลูกที่ไหน และเก็บเกี่ยวหน้าไหน แป้งสาลีอเนกประสงค์นิยมนำไปทำพายต่างๆ คุกกี้ ปาท่องโก๋ กะหรี่ปั๊บ โดนัท เพสตรี้ ครัวซองท์ พายชั้น เดนิช เอแคลร์ ฯลฯ ตัวที่ทำให้ขึ้นฟูสำหรับแป้งชนิดนี้ใช้ได้ทั้งยีสต์และผงฟู
3. แป้งเค้ก (Cake flour) เป็นแป้งสาลีชนิดเบา มีจำนวนโปรตีนต่ำเพียง 6-8% มีการขัดฟอกสีเพื่อสลายความแข็งแรงของกลูเต็น (Gluten) นอกจาก
เพื่อให้ได้เนื้อแป้งเบาฟูแล้ว ยังทำให้ซึม หรือผสมเข้ากับน้ำได้ง่ายและเร็วขึ้น
เนื้อแป้งละเอียดและขาวกว่าแป้งสาลีชนิดอื่นๆ มีปริมาณสตาร์ช (Starch) มาก แป้งเค้กใช้สำหรับทำเค้ก แยมโรล คุกกี้ฯลฯ ลักษณะของแป้งเมื่อถูด้วยมือ
จะรู้สึกนุ่ม เนียนละเอียด เมื่อกดนิ้วลงไปบนแป้ง แป้งจะรวมตัวกันเป็นก้อนและยังคงรูปรอยนิ้วมือไว้ แป้งเค้กนี้ใช้สารเคมีช่วยในการทำให้ขึ้นฟูเท่านั้น เช่น เบคกิ้งโซดา ผงฟู ไม่ใช้ยีสต์
การเลือกซื้อแป้งสาลี
- เลือกแป้งให้เหมาะสมกับชนิดของขนมที่จะทำ
- ควรมีสีขาวสะอาด บดละเอียด ไม่มีสิ่งเจือปน เช่น รำ
- แห้งสนิท ไม่มีตัวมอด แมลง ไม่มีกลิ่นเหม็น
- เลือกแป้งที่มีบรรจุภัณฑ์เรียบร้อย ไม่มีรอย ไม่มีรู
การเก็บรักษาแป้งสาลี
- ควรเก็บในภาชนะที่ปิดสนิท เพราะถ้าแป้งมีความชื้นสูงจะมีตัวแมลง ขึ้นราได้ง่าย
- ไม่ควรใช้ภาชนะที่เป็นฝาเกลียวและไม่ควรเก็บไว้นานเกินไป
- เก็บในห้องที่สะอาด มีอากาศถ่ายเทดี ปราศจากกลิ่น มีอุณหภูมิ
68-72 องศาฟาเรนไฮท์ และมีความชื้นสัมพัทธ์ 55-65% แป้งที่มี
ตัวแมลงอยู่จะต้องแยกนำออกมาทิ้งทันที
เมื่อเรารู้จักแป้งสาลีดีขึ้นแล้ว เราก็สามารถเลือกซื้อแป้งให้ตรงกับความต้องการได้ไม่ยากแล้วใช่ไหมคะ การจะทำอะไรก็แล้วแต่ล้วนต้องอาศัยความชำนาญค่ะ การทำขนมก็เช่นเดียวกัน การทำความรู้จักกับแป้งแต่ละชนิดก็ถือเป็นการปูทางนำคุณไปสู่การเป็นเชฟเบเกอรี่ได้เหมือนกัน การทำขนมอบนั้นยังมีเรื่องที่ต้องเรียนรู้อีกมากมาย ฉบับหน้าจะมีเรื่องราวอะไรมาฝากคุณผู้อ่านที่รักบ้างต้องติดตามกันค่ะ