รสร้อนซ่อนเสน่ห์
รสร้อนซ่อนเสน่ห์ กลิ่นหอม นอกจากจะใช้เพื่อสร้างบรรยากาศให้โลกใบนี้ดูสดใสแล้ว กลิ่นยังเป็นตัวช่วยเพื่อเพิ่มอรรถรสในการรับประทานได้เป็นอย่างดีอีกด้วย หากพูดถึงที่มาของกลิ่นหอมแล้ว หลายคนคงนึกถึงทุ่งดอกไม้นานาพันธุ์ที่แข่งกันชูช่อส่งกลิ่นเพื่อหลอกล่อหมู่ภมรมาดอมดม หรือบางคนอาจจินตนาการเลยไปไกลถึงสวรรค์ชั้นฟ้า หรือเมืองในเทพนิยาย แต่ในความเป็นจริงแล้ว กลิ่นหอมนั้นอยู่ใกล้ตัวเราถึงขนาดสามารถสัมผัสจับต้องได้ทุกเมื่อเชื่อวัน ซึ่งกลิ่นหอมนอกจากจะมาจากดอกไม้แล้ว เครื่องเทศแต่ละชนิดก็มีกลิ่นหอมอันเป็นเอกลักษณ์เช่นเดียวกัน แถมยังมีประโยชน์ต่อร่างกายมากกว่าดอกไม้เป็นไหนๆ
วิกิพีเดีย หรือพจนานุกรมฉบับออนไลน์ ได้ให้ความหมายของเครื่องเทศไว้ว่า ส่วนต่างๆ ของพืช เช่น เมล็ด เปลือก ผล ใบ ราก ลำต้น ฯลฯ ที่ถูกทำให้แห้งด้วยวิธีตามธรรมชาติ หรืออาจใช้เทคโนโลยีเข้าช่วย แล้วจึงนำมาเป็นเครื่องปรุงในอาหาร ทั้งนี้เพื่อให้ได้รสชาติ สีสัน กลิ่น หรือคุณสมบัติอื่นๆ ที่ต้องการ และด้วยคำจำกัดความนี้เองจึงทำให้เรามีเครื่องเทศเป็นจำนวนมาก
เครื่องเทศนั้นถูกค้นพบตั้งแต่สมัยโบราณกาล ดังจะเห็นได้จากวัฒนธรรมของชาติต่างๆ โดยเฉพาะเรื่องที่เกี่ยวกับอาหารการกิน บ้านเราในสมัยก่อนนั้นมีเครื่องเทศพื้นเมืองอยู่มากมาย ที่เราคุ้นเคยกันเป็นอย่างดีคือ พริกแห้ง พริกไทย ลูกและใบกระวาน กานพลู ยี่หร่า ฯลฯ จนเมื่อได้ติดต่อกับต่างชาติ เครื่องเทศหน้าตาแปลกใหม่จึงทยอยเดินทางเข้ามาพำนักอยู่ในบ้านเราเป็นจำนวนมาก
ในอดีต เครื่องเทศถือเป็นองค์ประกอบสำคัญของอาหาร เพราะการปรุงอาหารแต่ละชนิดจำเป็นต้องใช้เครื่องเทศที่กำหนดไว้เท่านั้น อาหารที่ได้จึงจะมีรสชาติและกลิ่นที่คุ้นเคย เมื่อความต้องการมีมาก แต่ปริมาณของเครื่องเทศยังมีน้อย จึงได้มีการออกเดินทางเพื่อเสาะแสวงหาเครื่องเทศจากทั่วโลก ส่งผลให้เกิดการค้าเครื่องเทศอย่างจริงจัง จนก่อให้เกิด ‘เส้นทางสายเครื่องเทศ’ ขึ้นนั่นเอง
เสน่ห์ของเครื่องเทศ นอกจากรสชาติและความหอมอันเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวที่ไม่สามารถทดแทนกันได้แล้ว ปริมาณที่ใช้ก็มีผลต่อรสชาติของอาหารเช่นกัน เครื่องเทศบางอย่างจำเป็นต้องใช้แบบสด จำพวกพืชสวนครัวทั้งหลาย เนื่องจากเครื่องเทศเหล่านี้จะมีน้ำมันหอมระเหยอยู่ในขณะที่ยังสดอยู่ และจะค่อยๆ จางหายไปเมื่อถูกทำให้แห้ง เช่น ผักชีฝรั่ง โหระพา กะเพรา แมงลัก สะระแหน่ ขิง ข่า ใบมะกรูด ฯลฯ ต่างจากเครื่องเทศแห้ง เช่น อบเชย กระวาน พริกไทย กานพลู ยี่หร่า ฯลฯ ที่จะให้น้ำมันหอมระเหยเมื่อแห้งแล้วเท่านั้น และจะหอมมากยิ่งขึ้นเมื่อได้รับความร้อน ดังนั้นเราจะสังเกตได้ว่า สูตรอาหารต่างๆ ที่มีส่วนผสมของเครื่องเทศเหล่านี้ มักจะระบุให้นำไปคั่วจนมีกลิ่นหอมก่อนนำมาใช้เสมอ
นอกจากประโยชน์ในเรื่องของกลิ่นที่ช่วยเพิ่มเสน่ห์ให้กับอาหารแล้ว เครื่องเทศส่วนใหญ่ยังมีรสร้อนแรง ทั้งยังมีฤทธิ์ช่วยป้องกันและรักษาอาการของโรคต่างๆ ได้อีกด้วย
อย่าง พริกไทย รสฉุน ที่ช่วยกระตุ้นให้รู้สึกเจริญอาหารทุกครั้งที่ได้กลิ่น ความร้อนแรงของพริกไทยช่วยเผาผลาญพลังงานส่วนเกิน ถึงขนาดที่สาวๆ หลายคนรับประทานพริกไทยป่นกันเป็นช้อนๆ แล้วดื่มน้ำตามมากๆ เนื่องจากเชื่อว่าได้ผลดีกว่าการรับประทานครั้งละน้อยที่โรยหน้ามาบนจานอาหาร สำหรับตัวผู้เขียนแล้วคิดว่า สาเหตุที่รับประทานพริกไทยแล้วช่วยควบคุมน้ำหนักได้นั้น น่าจะมาจากการดื่มน้ำตามมากๆ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการระคายคอ ส่งผลให้รู้สึกอิ่มจนไม่อยากรับประทานอาหารมากกว่า คุณล่ะ คิดเหมือนกันหรือเปล่า
กานพลู เครื่องเทศที่ขาดไม่ได้ในการทำแกงมัสมั่น คนโบราณนิยมเคี้ยวกานพลูเพื่อให้ปากหอมสดชื่น นอกจากนี้ยังช่วยบำรุงฟันให้แข็งแรงอีกด้วย ลูกและใบกระวาน เป็นอีกส่วนประกอบหนึ่งในแกงสไตล์อินเดีย และมักใช้คู่กันเสมอ เวลาใช้ต้องนำมาคั่วให้มีกลิ่นหอมก่อน สรรพคุณของกระวานช่วยขับลมในกระเพาะอาหาร ขับเสมหะ แก้อาการท้องอืดท้องเฟ้อ โป๊ยกั๊ก หรือจันทร์แปดกลีบที่เรียกเช่นนี้เพราะลักษณะของดอกโป๊ยกั๊กจะมีแปดแฉก มีรสเผ็ดแต่หวาน ช่วยบำรุงธาตุ แก้ธาตุพิการ อาหารไม่ย่อย เราจะเห็นโป๊ยกั๊กอยู่บ่อยครั้งในอาหารจีนประเภทต้ม ตุ๋น หรืออบ
หรืออย่างเครื่องเทศสด จำพวกผักสวนครัว อย่างตะไคร้ นอกจากฤทธิ์เย็นที่ช่วยขับลมแล้ว กลิ่นหอมของตะไคร้ยังโดดเด่นเข้าตา เราจึงเห็นเครื่องประทินผิวและเครื่องหอมทั้งหลายนำเอากลิ่นตะไคร้มาใส่ลงไป เรียกได้ว่าเป็นกลิ่นยอดนิยมเลยทีเดียว นอกจากนี้พืชตระกูลกินใบอย่างกะเพรา โหระพา แมงลัก และสะระแหน่ ก็ถือเป็นเครื่องเทศสดที่จำเป็นอย่างยิ่งยวดในการประกอบอาหารไทยภาคต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นต้มยำโป๊ะแตก แกงกะทิต่างๆ ขนมจีนน้ำยา รวมถึงกินแกล้มกับลาบ น้ำตก เป็นต้น
เครื่องเทศนอกจากจะใช้เป็นเครื่องปรุงรสและกลิ่นของอาหารแล้ว ในวงการเบเกอรี่ก็มีการใช้เครื่องเทศมาทำขนมเช่นกัน แต่จำนวนชนิดและปริมาณที่ใช้อาจไม่เทียบเท่า ขนมที่เราเห็นว่าใช้เครื่องเทศกันบ่อยๆ จนออกหน้าออกตาคงหนีไม่พ้น ซินนามอนโรล(Cinnamon Roll) ที่ชื่อคล้ายกับตัวการ์ตูนหมาน้อยน่ารักของต่างประเทศเขา ลักษณะโดยรวมของซินนามอนโรลก็คล้ายกับขนมปังทั่วไป บ้างก็ใช้เป็นแป้งเพสตรี้ โดยนำเอาก้อนโดมารีดเป็นแผ่นบางแล้วตัดเป็นเส้น จากนั้นจึงนำมาขดเป็นก้อนกลมแล้วนำไปอบจนสุก เพิ่มความหอมหวานด้วยส่วนผสมของน้ำผึ้งและอบเชยป่น หรือบางตำรับอาจมีการราดรอยัลไอซิ่งสีต่างๆ เพื่อเพิ่มความสวยงาม หรือหากนำซินนามอนโรลมาวางเรียงลงในพิมพ์ทรงกลมแล้วอบออกมาเป็นก้อนใหญ่ ก็จะกลายเป็น ‘เชลซีบัน’ (Chelsea Bun) ไปโดยปริยาย
ยิ่งในปัจจุบันที่ทุกคนต่างเรียกร้องหาความแปลกใหม่ ทั้งยังใส่ใจในสุขภาพ ดังนั้นไม่ว่าจะมีผลิตภัณฑ์อะไรที่เกี่ยวกับธรรมชาติ ปราศจากการปรุงแต่งออกมาวางจำหน่าย ย่อมเป็นที่ต้องการอย่างแน่นอน เบเกอรี่ก็เช่นกัน ปัจจุบันจึงมีการนำเอาเครื่องเทศต่างๆ ทั้งสด และแห้ง อย่างละนิดอย่างละหน่อย จับมาผสมกับเค้กบ้าง ขนมปังบ้าง กลายเป็นขนมปังเครื่องเทศที่กลิ่นอาจยังไม่เป็นที่คุ้นเคย แต่เชื่อว่ารสชาตินั้นถูกปากแน่นอน แม้เครื่องเทศจะไม่ใช่เครื่องปรุงหลักในการทำอาหารหรือขนม แต่ก็ถือเป็นสีสันอย่างหนึ่งที่ขาดไม่ได้ มิฉะนั้นอาหารจานนั้นของคุณคงไม่ถึงเครื่องครบรสเป็นแน่
เรื่องราวของเครื่องเทศบนโลกใบนี้ยังมีให้ศึกษาอีกมากมาย เพียงคุณหาเวลา หรือใส่ใจเรียนรู้สักนิด ไม่ต้องถึงขั้นทุ่มเท แล้วคุณจะหลงเสน่ห์เครื่องเทศขึ้นอีกเป็นกอง