ขนมทาร์ตไข่

ขนมทาร์ตไข่

ขนมทาร์ตไข่ ขนมในใจใครหลายคน

ขนมทาร์ตไข่ ดูจะเป็นคำพูดที่ชวนสงสัยไม่ใช่น้อย ว่าทำไมคนที่ข้ามน้ำข้ามทะเลไปถึงฮ่องกง ไปถึงมาเก๊า นอกจากวัตถุประสงค์หลักอย่างการช้อปปิ้ง การติดต่อธุรกิจ หรือไปเพื่อท่องเที่ยว หนึ่งในโปรแกรมการเดินทางที่ลืมไม่ได้ คือ การแวะร้านดังเพื่อทาน ‘ขนมทาร์ตไข่’ หรือที่ชาวฮ่องกงเรียกว่า
“ต่าน ทาร์ต” (Daan Taat) แป้งพายเหลืองทองที่บรรจุครีมคัสตาร์ดสีเหลืองอ่อนรสกลมกล่อมละมุนลิ้น ใครได้ลิ้มรสย่อมติดใจทุกราย ไม่ใช่แค่คนทานเท่านั้นที่ต้องลัดฟ้าไปทานเจ้าทาร์ตไข่ เพราะกว่าจะมาเป็นขนมชื่อดังของมาเก๊า-ฮ่องกง ขนมชนิดนี้ก็มีเรื่องราวที่เดินทางมาไกลพอตัวเช่นกัน

ที่มาที่ไปของ ทาร์ตไข่ (Egg tart)

จากหลักฐานอ้างอิง ทำให้ทราบว่า ทาร์ตไข่มีความคล้ายคลึงกับเพสตรี้ชนิดหนึ่งของโปรตุเกส ชื่อว่า ‘พาสเทล เดอ นาต้า’ (Pastel de nata)ที่ไส้ข้างในเป็นคัสตาร์ดครีมบูเล่ คล้ายกับคาราเมลแบบข้น บรรจุลงในแป้งพัฟฟ์แบบกระเป๋า ซึ่งคนอังกฤษจะเรียกเพสตรี้ชนิดนี้ว่า ‘ครีมทาร์ต’ (Cream Tart) เพสตรี้ชนิดนี้ถูกคิดขึ้นเมื่อ 200 ปีก่อน โดยแม่ชีคาธอลิคที่โบสถ์ Jerónimos ใน Bélem ซึ่งเป็นเขตหนึ่งของกรุงลิสบอน(Lisbon) เมืองหลวงของโปรตุเกส สมัยนั้นการที่จะทาน Pastel de nata ได้ ต้องเข้าไปซื้อที่โบสถ์เท่านั้น ต่อมาในปี 1820 โบสถ์ Jerónimos ได้ปิดตัวลงร้าน Casa Pastéis de Belémซึ่งถือเป็นร้านเพสตรี้แห่งแรกที่อยู่ภายนอกสำนักชี ได้นำเพสตรี้

ชนิดนี้มาวางขายในปี 1837 และถือได้ว่า Pastel de nata เป็นเพสตรี้ที่รับความนิยมอย่างมาก โดยในเมือง Bélem จะเรียกเพสตรี้ชนิดนี้ว่า
‘Pastel de Bélem’ เพื่อเป็นการระลึกถึงถิ่นกำเนิดเพสตรี้ชนิดนี้

เมื่อความนิยมแพร่หลายมากขึ้น Pastel de nata จึงถูกประยุกต์ดัดแปลงโดยคนท้องถิ่น จากเดิมที่บรรจุลงในแป้งพัฟฟ์ แบบกระเป๋า ก็ใช้แป้งพายกรุลงในพิมพ์ลักษณะคล้ายถ้วย บรรจุครีมคัสตาร์ดแบบข้น ก่อนเสิร์ฟจะอุ่นให้ร้อน และโรยหน้าด้วย ผงซินนามอนและน้ำตาลไอซิ่งออกมาเป็นทาร์ตไข่สไตล์โปรตุเกสที่คุ้นเคยกันดีในปัจจุบัน จึงเกิดข้อสันนิษฐานที่ว่า ทาร์ตไข่ ขนมยอดนิยมของมาเก๊านั้น ถูกนำเข้ามาผ่านชาวโปรตุเกสที่เข้ามาอาศัย ในสมัยที่มาเก๊าถูกปกครองโดยประเทศโปรตุเกส ก่อนที่โปรตุเกสจะส่งอำนาจการปกครองคืนสาธารณรัฐประชาชนจีน ในปี 1999 และกลายเป็นเขตการปกครองพิเศษของจีนจนถึงทุกวันนี้

ต่อมา แอนดรูว์ สโตว์ (Andrew Stow) ชาวอังกฤษ เจ้าของร้าน Lord Stow’s Café ในเมืองโคโลอาน (Coloane) ซึ่งอยู่บนเกาะหนึ่งในเขตมาเก๊าได้ดัดแปลงสูตรเพสตรี้ Pastel de nata โดยใช้เทคนิคการทำคัสตาร์ดทาร์ตแบบอังกฤษ จนเป็นที่มาของทาร์ตไข่สไตล์ฮ่องกงที่ได้รับความนิยมอย่างมาก
ทำให้ร้าน Lord Stow’s Café มีนักท่องเที่ยวแวะเวียนมาเพื่อชิมทาร์ตไข่ฮ่องกงในแบบต้นตำรับกันไม่ขาดสาย นอกจากนี้ทาร์ตไข่สูตรของร้าน Lord Stow’s Café
ยังมีวางจำหน่ายในร้านอาหารสไตล์มาเก๊า และร้าน KFC สาขาในประเทศจีน ฮ่องกง ไต้หวัน มาเลเซียและสิงคโปร์อีกด้วย

ปี 1940 ทาร์ตไข่ เริ่มเป็นที่รู้จักในฮ่องกง โดยร้านชา ชาน เท็ง (Cha Chaan Tengs) ร้านอาหารจีน ซึ่งถือเป็นร้านแรกๆ ที่มีส่วนของคาเฟ่และเบเกอรี่ตะวันตก ในสมัยนั้นทาร์ตไข่ของทางร้านจะมีขนาดใหญ่กว่าที่เราทานกันในปัจจุบันถึงสองเท่า ต่อมาในปี 1950-1960 ถือเป็นช่วงที่เศรษฐกิจในประเทศจีนกำลังเฟื่องฟู ได้มีการปรับเปลี่ยนรูปร่างทาร์ตไข่ดั้งเดิม มาเป็นทาร์ตไข่ขนาดที่เราคุ้นเคยในปัจจุบัน เพราะต้องการให้คนธรรมดาทั่วไปทานได้ เนื่องจากแต่เดิมทาร์ตไข่เป็นขนมที่มีราคาแพงและถือเป็นขนมชั้นสูง ถึงขนาดที่ว่าเป็นหนึ่งในเมนูที่อยู่ใน ‘หม่าน ฮั่น ฉวน ซี’(Manchu Han Imperial Feast)ซึ่งเป็นสำรับสำหรับงานเลี้ยงใหญ่ของคนชั้นสูง (แต่เดิมเป็นสำรับที่จัดขึ้นในงานฉลองของฮ่องเต้) ในสำรับอาหารจะเป็นอาหารฮั่น แมนจู ครบสูตร การทำทาร์ตไข่ให้มีขนาดเล็กลงนั้นเพื่อแสดงให้เห็นถึงความเท่าเทียมกันของสังคม ทำให้ปัจจุบันทาร์ตไข่มีขายในร้านทั่วไป แต่ส่วนใหญ่มักวางขายในภัตตาคารติ่มซำมากกว่าในร้านเบเกอรี่

วันนี้ทาร์ตไข่มีความเปลี่ยนแปลงไปมาก มีการประยุกต์ดัดแปลง
ให้รสชาติหลากหลายมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็น ทาร์ตไข่ขาว ทาร์ตนม ทาร์ตไข่
ผสมน้ำผึ้ง ทาร์ตไข่รสขิง ช็อกโกแลตทาร์ต ทาร์ตรสชาเขียว และทาร์ตรังนก นอกจากในเรื่องของรสชาติที่หลากหลาย เสน่ห์อย่างหนึ่งที่ทำให้ทาร์ตไข่สไตล์ฮ่องกงได้รับความนิยม และเป็นที่ชื่นชอบของทุกคน คงเป็นเพราะโดยปกติแล้วคนฮ่องกงจะเป็นคนที่พิถีพิถันเรื่องการรับประทานอาหาร จากเดิมแป้งทาร์ต
จะมี 2 ชนิดด้วยกัน คือ แป้งพายร่วนและพายชั้น แต่ที่ฮ่องกงทาร์ตไข่จะเป็นในลักษณะของพายชั้นที่ทำด้วยความเอาใจใส่อย่างสูง และตัวทาร์ตไข่ก็จะไม่มีการโรยหน้าด้วยลูกจันทน์ป่น หรือซินนามอนก่อนเสิร์ฟ ทำให้หน้าทาร์ตไข่เรียบเนียน ไม่ไหม้ รสสัมผัสที่ได้รับจากการทานทาร์ตไข่ฮ่องกง จึงต่างจาก
ทาร์ตไข่สไตล์โปรตุเกส หรือคัสตาร์ดทาร์ตแบบอังกฤษ

ทาร์ตไข่หลากรสชาติที่กล่าวไปข้างต้นนั้น ส่วนใหญ่แล้ว หาทานได้ที่ร้าน Cha Chaan Tengs และอีกร้านหนึ่งซึ่งถือเป็นร้านดังไม่แพ้กันคือร้าน
ไท่ เซิ้ง เบเกอรี่ (Tai Cheong Bakery) เป็นร้านที่ คริส แพทเทน (Chris Patten) ผู้ว่าการอังกฤษประจำฮ่องกงคนสุดท้ายชื่นชอบเป็นอย่างมาก โดยเขาจะเพลิดเพลินเป็นพิเศษกับทาร์ตไข่ที่วางขายในร้าน Tai Cheong Bakery ว่ากันว่าเขาไม่ยอมกลับอังกฤษก็เพราะติดใจทาร์ตไข่ฮ่องกง แม้ทางอังกฤษจะส่งคืนเกาะฮ่องกงให้ประเทศจีนในปี 1997 แล้วก็ตาม ด้วยเหตุนี้ทาร์ตไข่ในร้านดังกล่าวจะเป็นที่รู้จักในชื่อของ‘เฟย-แปง ทาร์ตไข่’ (Fei-Paang egg tarts) หรือ ‘ทาร์ตไข่ของแฟท แพทเทน’ เพราะ ‘แฟท แพทเทน (Fat Patten)’ คือชื่อเล่นของท่านผู้ว่าการในภาษาจีนกวางตุ้ง ซึ่งเป็นเรื่องราวที่เล่าขานต่อๆ กันของชาวฮ่องกง

ส่วนในประเทศไทย ความนิยมทาร์ตไข่ก็ไม่ต่างจากที่อื่น เพราะ ‘ทาร์ตไข่’ ยังคงเป็นขนมขายดีของร้านเบเกอรี่แต่ละร้าน เรื่องรสชาติก็อร่อยไม่แพ้ฮ่องกง มาเก๊า บางร้านมีการคิดรสชาติใหม่ๆ ไม่ว่าจะเป็น ทาร์ตไข่ขาว ทาร์ตไข่หน้าปลาแซลมอน ทาร์ตไข่หน้าผักโขม อ่านมาจนถึงบรรทัดนี้แล้ว
รับทาร์ตไข่สักชิ้นไหมคะ…